ColorfulEnglish เก่งอังกฤษด้วยศิลปะ
  • Home
  • About Us
  • Classes
    • Courses
    • Arts & Crafts
    • Cooking
    • Science
    • Games
  • Events & Activities
    • Press Release >
      • Mother & Care
      • ครอบครัวข่าวเด็ก
    • Charity >
      • GreenPeace
      • Donation For The Orphans
      • Donation for Baan Gerda
      • Together We Can
      • Sharing is Caring.
    • ColorfulEnglish’s Channel
    • ColorfulEnglish On Tour!
    • Christmas & New Year >
      • Christmas & New Year 2010
      • Christmas & New Year 2013
    • Halloween >
      • Halloween 2010
      • Halloween 2012
    • Job Opportunities
  • Articles
    • Kru Ann's Blog
    • บทความเก่งอังกฤษ
    • บทความเก่งศิลปะ
  • Contact Us
    • Map
  • Little Anna & The Gang

ศิลปะกับเด็กปฐมวัย

12/11/2012

0 Comments

 
Picture
ศิลปะกับเด็กปฐมวัย  
 
เด็กในช่วงวัยนี้โครงสร้างสมองซีกขวาซึ่งเกี่ยวกับศิลปะ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ดีมาก ถ้าส่งเสริมอย่างถูกทิศถูกทางและทำให้เกิดพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง  แต่เมื่อไหร่ที่เราไปขัดขวางพัฒนาการ บีบบังคับ สร้างความเป็นระบบแบบแผนมากเกินไป ล้วนแล้วแต่เป็นตัวขัดขวางจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

การศึกษาไทยยังไม่มีความเข้าใจในการพัฒนาเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์  จะเห็นว่าทุกวันนี้เรา พยายามสร้างกระบวนการคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กไทยมากขึ้น  หากแต่บางครั้งก็ยังไม่มีความเข้าใจมากพอ  เด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกันในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างกระบวนการคิดสร้างสรรค์จึงต้องต่างกันไป

เด็กในระดับชั้นปฐมวัย จึงจำต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้   เราจะเน้นให้เด็กเกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เมื่อเขาสนุกและเพลิดเพลิน  แล้วจะทำให้เขาสามารถคิดอะไรได้แปลกใหม่อย่างมีอิสระ และเสรีภาพ คนที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กต้องเข้าใจ มิฉะนั้นจะไม่สามารถสร้างสถานการณ์ของการเรียนการสอนได้  ในการพัฒนาเสรีภาพการเขียนการคิดได้อย่างแท้จริง

วิชาศิลปะเป็นวิชาที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดจินตนาการได้เต็มที่ตามที่ได้เห็น เด็กสามารถสร้างจินตนาการได้กว้างกว่าที่เราจะคาดเดาได้ บางทีก็อาจจะสะท้อนจิตใจความรู้สึกของเด็กที่บางที่ไม่สามารถถ่ายทอดเป็นคำพูดได้แต่สามารถถ่ายทอดมาทางงานศิลปะได้ วิชาศิลปะเป็นฐานทางการศึกษาพัฒนาการเด็กซึ่งควรเริ่มตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่  การเรียนการสอนศิลปะสำหรับเด็ก ปฐมวัยนั้นจะมุ่งเน้นถึงพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กมากกว่าผลงาน ดังนั้นจะเห็นว่ากิจกรรมต่างๆทางศิลปะจะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง และสัมพันธ์กับการใช้ตา เช่นการปั้นแป้ง ดินน้ำมัน วาดรูป และระบายสี เด็กได้ใช้ส่วนต่างๆของนิ้วมือ แขน  ไหล่ และส่วนอื่นๆของร่างกาย เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านการใช้กล้ามเนื้อใหญ่-เล็กเป็นอย่างดีทำให้เด็กสามารถหยิบจับสิ่งต่างๆได้  อันจะนำไปสู่การเรียนของเด็กต่อไป

ศิลปะกับความคิดสร้างสรรค์

นักจิตวิทยาทางการศึกษาทั่วโลกเชื่อกันว่าเด็กทุกคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถพัฒนาให้เจริญงอกงามได้ตามระดับความสามารถของแต่ละบุคคล ถ้าหากเด็กนั้นๆได้รับการเสริมและสนับสนุนให้มีการแสดงออกภายใต้ บรรยากาศที่มีเสรีภาพ

สำหรับเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ในตัวสามารถพิจารณาจากพฤติกรรมได้หลายด้านดังนี้

1.การเป็นผู้กระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา

2.การเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยความคิดของตนเอง

3.การเป็นผู้ชอบสำรวจตรวจสอบความคิดใหม่ ๆ

4.การเป็นผู้เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง

5.การเป็นผู้สอบสวนสิ่งต่าง

6.การเป็นผู้มีประสาทสัมผัสอันดีต่อความงาม


จะเห็นได้ว่าการสร้างสรรค์ คือการ เจริญงอกงามทั้งด้านความคิด ร่างกาย และ พฤติกรรม
และศิลปะคือเครื่องมือที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพราะกระบวนการทางศิลปะไม่มีขอบเขตแห่งการสิ้นสุดสามารถสร้างความเพลิดเพลินให้แก่เด็กได้ตลอดเวลานอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กเกิดความคิดที่ต่อเนื่องอย่างไม่จบสิ้น และก้าวไปยังโลกแห่งจินตนาการอย่างไม่มีขอบเขต


การวาดรูประบายสี
เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งช่วยในการทำงานประสานกันระหว่างมือและตา เด็กจะ รู้จัก สี เส้น รูปทรง พื้นผิว ขนาดที่จะต้องพบในชีวิตประจำวันของเขาภาพที่จะเห็นต่อไปนี้เป็นภาพ ที่วาดโดยเด็กปฐมวัยอายุ 3- 4 ขวบ เป็นภาพที่วาดตามความคิดและจินตนาการของเด็กเป็นอีก กิจกรรมหนึ่งซึ่งช่วยในการทำงานประสานกันระหว่างมือและตา เด็กจะรู้จัก สี เส้น รูปทรง พื้นผิว ขนาดที่จะต้องพบในชีวิตประจำวันของเขา

การปั้น 
การปั้นดินน้ำมันหรือ ดินเหนียว แป้งโด ฯลฯ มาปั้นเป็นรูปต่างๆตามจินตนาการของเด็กแต่ ละคนซึ่งจะแตกต่างกันไป เป็นการฝึกสมาธิและพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆของเด็กเด็กจะได้เรียนรู้รูปร่างต่างๆ

การพับกระดาษ 
เป็นกิจกรรมในการพัฒนาจิตใจและสร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ทำให้เด็กเกิดความสนใจ และรู้สึกสนุกจึงทำซ้ำแล้วซ้ำอีก และเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างความเคลื่อนไหวของมือและการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างจากกระดาษที่พับ

การฉีก-ปะกระดาษ   
เป็นกิจกรรม ที่ช่วยส่งเสริม การใช้ทักษะมือ และนิ้วมือ ที่เราเรียกว่ากล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อส่วนนี้จะทำงานได้ดีต้องอาศัยการประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับมือด้วย   
 
การพิมพ์
การพิมพ์ภาพเป็นการสร้างภาพหรือลวดลายที่เกิดจากการนำวัสดุหลายๆประเภท เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ ก้านกล้วย หรืออวัยวะของร่างกาย เช่น มือ เท้า มาใช้เป็นแม่พิมพ์กดทับลงบนสีแล้วนำไป พิมพ์บนกกระดาษหรือผ้าก็ได้ 
 
การเป่าสี
คือการนำสีน้ำหรือสีโปสเตอร์ ผสมกับน้ำให้สีข้นพอสมควร โดยการหยดสีลงบนกระดาษ ใช้หลอดกาแฟจ่อปลายหลอดที่สี แล้วเป่าให้สีกระจาย จะได้ภาพสวยงามหลายหลากสี

การประดิษฐ์เศษวัสดุ  
เป็นการช่วยส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าการประยุกต์ให้เศษวัสดุใกล้ตัว ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เกิดความภาคภูมิใจต่อผลงานของตนเอง ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำ มีส่วนร่วมทั้งความคิด จิตใจ สมอง เกิดความประทับใจ เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ จะทำให้เด็กค่อยๆ เกิดความคิดสร้างจินตนาการ นำไปสู่การคิดค้นการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์งานใหม่ได้

 สรุปแล้ว
  การเรียนศิลปะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร ทำให้เด็กได้ฝึกการใช้จินตนาการอย่างอิสระ ซึ่งจะมีผลให้เด็กเป็นคนกล้าคิด กล้าริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ทำให้เด็กได้แสดงออกถึงสิ่งที่ตนคิดและรู้สึกโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารทางตัวอักษรได้ดีทำ ให้เด็กรักการทำงานและมีความภาคภูมิใจในตนเอง เมื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะของเด็กแต่ละชิ้นเสร็จสิ้นลงเด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานของเขามาก ทำให้กระตือรือร้นที่จะสร้างผลงานชิ้นใหม่ต่อไป ช่วยฝึกความประณีตและสมาธิเพราะในขณะที่เด็กพยายามควบคุมมือให้สามารถวาด
ระบายสีหรือประดิษฐ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จนั้นต้องใช้ความตั้งใจ ความพยายามและใช้สมาธิที่แน่วแน่ มั่นคงตามวุฒิภาวะของเด็กแต่ละวัย ทำให้เด็กเป็นคนมีสุนทรียภาพ มีความละเอียดอ่อนในจิตใจ ทำให้รู้คุณค่าในธรรมชาติ ศิลปะ วัตถุ หรือรูปแบบความคิดต่างๆ ทำให้มีชีวิตและจิตใจที่งดงาม ฝึกให้เด็กรู้จักการทำงานร่วมกัน รู้จักปรับตัวและปรับความคิดให้สอดคล้อง ยอมรับซึ่งกันและกันอันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีและเป็นประชาธิปไตยในสังคม


ข้อมูลอ้างอิง
http://gotoknow.org/blog/kruoil/210983
http://www.clinicdek.com/index.php?option=com_content&task=view&id=414&Itemid=61


 

0 Comments

อย่าสอนเด็กให้เป็นทาสรางวัล

7/30/2010

11 Comments

 
Picture
   ผู้ใหญ่บางคนที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กทำงานศิลปะเพื่อหวังแต่รางวัลจนเด็กตกเป็นทาสของรางวัลนั้น เคยสังเกตบ้างไหมว่าในดวงใจของเด็กที่เคยสะอาดสะอ้านบริสุทธิ์ น่ารัก และร่าเริง แจ่มใสอย่างมีชีวิตชีวาหลังจากถูกเพาะกิเลส ด้วยรางวัลจากผู้ใหญ่ ได้กลับกลายเป็นเด็กที่มีหัวใจอันหยาบกระด้าง เห็นแก่ตัว เย่อหยิ่งยะโสก้าวร้าว บางครั้งอาการผิดหวัง ซึมเศร้า อิจฉาริษยา และโกรธแค้นชิงชัง เมื่อไม่ได้รับรางวัลอีก
        
       นอกจากนี้ ในบรรยากาศที่มุ่งประกวดและแข่งขันชิงรางวัลนั้น ในดวงตาของเด็กๆ ไม่ได้ถูกสอนไม่ได้ถูกสอนให้มองถึงความงดงามของศิลปะ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รอบๆตัวแต่กลับมีนัยน์ตาเป็นประกายมองเห็นแต่รางวัลและสิ่งที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาให้หลงบูชาด้วยความชื่นชม เช่น เหรียญโล่ โบว์และกล่องของขวัญชนิดต่างๆ ซึ่งบางครั้งเมื่อแกะกล่องออกมาแล้วภายในเป็นเพียงสิ่งของราคาถูก และมักถูกโยนทิ้งลงถังขยะในที่สุด

ทำไมเราไม่สอนให้เด็กรักศิลป
ะ แทนที่จะมุ่งแสวงหารางวัล คะแนนและสิ่งตอบแทนต่างๆ
ที่มอมเมาเด็กทำไมไม่สอนเด็กเป็นคนที่สมบูรณ์ก่อนที่จะสอนให้เด็กเป็นศิลปินหรือจิตรกรที่บางคนแต่งกายสกปรกผมเผ้ารกรุงรังคล้ายคนบ้าๆ บอๆ และมีพฤติกรรมที่แปลกๆ ประหลาด ซึ่งเด็กๆ ผู้อ่อนเยาว์ไม่สมควรจะเอาเป็นตัวอย่าง


รองศาสตราจารย์เลิศ อานันทนะ
นิทรรศการประกวดภาพเขียนเด็กเยาวชนไทย "โลกก้าวหน้า" และภาพเขียนเด็กและเยาวชนญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2538
ณ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง 8-18 ธันวาคม 2538

11 Comments

บทความทางศิลปะ1

7/29/2010

2 Comments

 
Picture
สอนคนให้เป็นคน ก่อนที่จะสอนคนให้เป็นศิลปินหรือจิตรกร
ศิลปะเด็กเป็นสื่อที่ดีในการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ของเด็ก ไม่ใช่การเตรียมคนให้เป็นศิลปินหรือจิตรกรในอนาคต  
             
         ศิลปะในโลกของเด็กๆ นั้นคือ การแสดงออกอย่างอิสระเสรี (Free Expression) อันเต็มไปด้วยความซื่อบริสุทธิ์จริงใจ เปิดเผยและเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาประสาของเด็ก โดยปราศจากการเสแสร้ง ดัดจริตและไร้มารยาสาไถยซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติที่หายากในงานศิลปะของผู้ใหญ่ทั่วไปโดยเฉพาะมีศิลปินชั้นนำของโลกเพียงบางท่านเท่านั้นเช่น ปิกัสโซ่, ชากาล, แคนดินสกี, ฯลฯ ที่มีความเข้าใจ และสามารถทำงานศิลปะที่บริสุทธิ์ คล้ายคลึงกับผลงานศิลปะของเด็กๆ


          แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่าในปัจจุบันนี้ศิลปะบริสุทธิ์ของบรรดาเด็กๆกำลังถูกผู้ใหญ่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ พยายามชักจูงและเกลี้ยกล่อมให้ทำงานศิลปะโดยเอารางวัลมาเป็นตัวล่อ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทน ด้วยการยืมฝีมือของเด็กๆ ส่งผลงานไปประกวดและแข่งขันยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะครูศิลปะบางคนที่ยังขาดความเข้าใจในปรัชญาเกี่ยวกับศิลปะเด็กมักสำคัญผิดคิดว่าวิธีการส่งเสริมศิลปะสำหรับเด็ก คือ การประกวดและแข่งขันชิงรางวัลครูศิลปะและผู้ใหญ่ประเภทดังกล่าวนี้ จึงมักจะส่งเสริมกิจกรรมศิลปะโดยมุ่งหวังที่รางวัลแต่เพียงประการเดียวจนกระทั่งเด็กๆ หลายคนถูกชักนำให้กลายเป็นนักล่ารางวัลไปโดยไม่รู้สึกตัว

         พ่อแม่และผู้ปกครองตลอดจนผู้เกี่ยวข้องก็พลอยยินดีไปด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจเพราะคิดว่ารางวัลนั้น คือ ตัวแทนของความสามารถและเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความสำเร็จที่น้อยคนจะได้รับ บรรดาผู้ใหญ่ที่แสดงความรักเด็กในขณะเดียวกันก็รักรางวัลไปพร้อมๆ กันด้วยนี้ จึงพากันมุ่งส่งเสริมกิจกรรมศิลปะเพื่อต้องการเอารางวัล บางคนพยายามสืบเสาะดูว่าในการประกวดและแข่งขันศิลปะนั้นๆ มีใครเป็นกรรมการบ้าง กรรมการแต่ละคนมีรสนิยมอย่างไรเพื่อว่าที่จะได้กลับมาชี้แนะให้เด็กๆ ทำงานศิลปะให้ถูกใจกรรมการ หารู้ไม่ว่าพฤติกรรมเช่นนั้นเท่ากับเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่สะอาดบริสุทธิ์ของเด็กๆ ตั้งแต่เยาว์วัย

รองศาสตราจารย์เลิศ อานันทนะนิทรรศการประกวดภาพเขียนเด็กเยาวชนไทย "โลกก้าวหน้า"
และภาพเขียนเด็กและเยาวชนญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2538
ณ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง 8-18 ธันวาคม 2538


2 Comments

ศิลปินแนะทางออกคนไทยไม่สนใจ 'ศิลปะ'

7/27/2010

3 Comments

 
Picture
"เป็นคนชอบศิลปะ เพราะดูแล้วรู้สึกสบายใจ ถ้ามีโอกาสก็จะตามไปชมนิทรรศการศิลปะที่ตัวเองสนใจ อย่างพวกงานประติมากรรมสวยๆ หรือภาพเขียนสีน้ำ คิดว่าที่คนไม่ค่อยไปดูงานศิลป์ อาจจะติดตรงที่ต้องสนใจเรื่องปากท้องก่อนที่จะมีอารมณ์สุนทรีย์" สุภี อาจทวีกุล อายุ 32 ปี พนักงานโรงแรม 

"ชื่นชอบศิลปะอยู่ในระดับหนึ่ง ที่สามารถจะเอามาใช้ประกอบกับชีวิตประจำวันได้ ส่วนตัวจะติดตามเรื่องราวของศิลปะผ่านทางนิตยสาร เเต่ไม่เคยไปดูนิทรรศการศิลปะเเบบเป็นจริงเป็นจัง เพราะคิดว่าที่จัดการเเสดงนั้นมีน้อย หรืออาจจะมีเยอะเเต่ก็ไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าหาดูได้ง่ายเหมือนไปชมภาพยนตร์" ณุวภา ฉัตรวรฤทธิ์ อายุ 21 ปี นักศึกษา

 จริงอยู่ "ศิลปะ" เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก เป็นบริบทที่มีความอิสระจากกรอบอื่นใด แต่ลึกๆ หากความมุ่งมั่นของศิลปินที่ต้องการถ่ายทอดความคิดนั้นกลับถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างไร้ใครเหลียวแล ห้องจัดแสดงนิทรรศการที่โล่ง จะต่างอะไรกับอาหารที่เต็มโต๊ะ แต่ไม่มีใครเรียกร้องอยากจะกิน!

 ดูเหมือนแรงกระเพื่อมเรื่องศิลปะในสังคมไทยกำลังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างหนาหู แม้ว่าในช่วงหลังๆ มานี้จะมีหอศิลป์ผุดขึ้นมารองรับผลงานของศิลปิน และกระตุ้นให้ผู้คนเข้าไปเดินเสพศิลปะค่อนข้างมาก หากนั่นเฉพาะวันเปิดงานหรือเพียงกลุ่มนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชานี้เท่านั้นที่ให้ความสนใจ ปรากฏการณ์งานศิลป์เงียบเหงาจึงเป็นที่มาให้ศิลปินเริ่มโอดครวญ

 "ช่วงหนึ่งเคยมีความหวังที่ดีมาก ตอนชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สร้างหอศิลป์ตามภูมิภาค 4 แห่ง อย่าง เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และริเริ่มให้มีรางวัลศิลปินแห่งชาติ ทำให้ศิลปินได้ทำงานต่อเนื่อง ไม่บอดใบ้ต่อศิลปะ ศิลปินรุ่นใหม่ก็เกิดขึ้นเยอะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสังคมยังไม่รองรับงานแสดงของพวกเขา อย่าว่าแต่ไปซื้อเลย ไปดูยังไม่ไป จึงเกิดข้อสันนิษฐานว่าคนอาจจะเบื่อรูปแบบงานเดิมๆ หรืออีกแง่หนึ่งเราอาจไม่ถูกปลูกฝังมาให้ดูศิลปะก็เป็นได้" ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ปี 2540 (จิตรกรรมและสื่อผสม) เปิดทัศนะ

 หากเป็นอย่างที่ ดร.กมล ตั้งข้อสงสัย แสดงว่ารากฐานด้านการสร้างสุนทรีย์ของคนไทยกำลังมีปัญหา นรินทร์ โพธิสมบัติ ศิลปินอิสระรุ่นใหม่ ให้มุมมองว่าคงต้องกระตุ้นตั้งแต่เด็กๆ ให้รู้จักศิลปะแล้วจะรู้คุณค่า รวมถึงให้ความคิดและแรงบันดาลใจใหม่ๆ แต่เท่าที่สังเกตเมืองไทยยังให้การส่งเสริมศิลปะค่อนข้างน้อย

 "พ่อแม่ไม่ค่อยสนับสนุนให้ลูกเรียนศิลปะ เหมือนเป็นการปิดกั้นความสนใจและจินตนาการ ทั้งที่ลึกๆ แล้วบางคนมีพรสวรรค์ ถ้าต่อยอดให้ก็อาจเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง แต่พอถูกขวางทำให้โตขึ้นมาแล้วขาดอารมณ์สุนทรีย์ ศิลปะเป็นเรื่องของจิตใจความคิด ต้องพัฒนาไปด้วยกัน ถ้าพัฒนาเด็กให้ซึมซับ เขาก็จะไม่เข้าหาอบายมุข" รศ.อิทธิพล กล่าว

 สอดคล้องกับมุมมองของ ศ.เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ปี 2550 (ภาพพิมพ์และสื่อผสม) ที่เห็นว่าเริ่มจากต้องมีที่ให้นักศึกษา หรือคนทั่วไปได้ดูศิลปะ แล้วจะเกิดความเคยชิน สำคัญต้องปูความรู้เรื่องศิลปะตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงการมีหอศิลป์แบบถาวรไว้รองรับผลงานของศิลปิน ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ทุกวันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยมักฟันธงว่าสิ่งใดที่ดูรู้เรื่องนั่นเป็นศิลปะ ส่วนอะไรที่ไม่เข้าใจไม่ใช่ศิลปะ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย

 "ควรจะมีหอศิลป์ที่มีงานแสดงถาวรหมุนเวียน บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะทุกยุคสมัย และมีที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่โนเนมด้วย อย่าง สวิตเซอร์แลนด์ เขามีหอศิลป์ทุกเมือง เช่นเมืองซูริก หนึ่งเดือนจะมีช่วงให้เข้าชมหอศิลป์ฟรี ผมเองมีโอกาสเข้าไปหอศิลป์ช่วงนี้ เห็นเด็กเล็กๆ เข้ามาดูงานศิลป์เต็มไปหมด ซึ่งศิลปะไม่จำเป็นต้องดูรู้เรื่องก็ได้ คิดเองตามธรรมชาติดก็เป็นศิลปะ เหมือนดนตรีมีหนักเบาสูงต่ำ เมื่อเป็นลักษณะนี้ครูก็ต้องให้เด็กมีอิสระทางความคิด นั่นคือต้องสอนให้เด็กเห็นนามธรรมก่อน แล้วเขาจะมีสุนทรียะ" ศิลปินแห่งชาติชี้ชวน

 แม้วงการศิลปะบ้านเราจะพัฒนาไปมาก แต่ทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ดูจะไม่ง่าย ด้วยอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นอุปสรรคอย่างตัวศิลปินเองยังคงไม่ได้รับการตอบโจทย์ โดยศิลปินรุ่นใหญ่ ดร.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ปี 2544 (จิตรกรรม) ให้ทรรศนะว่า ศิลปินต้องคิดนอกกรอบ เพราะศิลปะไม่ใช่เรื่องตายตัว ต้องสื่ออารมณ์สื่อความคิดได้ ไม่ยึดติดกับอะไรทั้งนั้น ถึงจะเรียกว่าเป็นศิลปินตัวจริง และถ้าจะให้เห็นเป็นรูปธรรมผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำงานจริงจัง

 "เรามีสำนักวัฒนธรรมแห่งชาติก็คอยกระตุ้นสิ กระทรวงวัฒนธรรมตั้งมากว่า 6 ปี ก็ยังเดินไปไม่ถึงไหน เพราะคนใหญ่คนโตไม่เหลียวมาดู ทุกวันนี้ศิลปินพยายามจุดตะเกียงให้แสง อย่าง อ.กมล ทำเรื่องวัฒนธรรมมาตลอดชีวิต ต่อยอดออกเดินสายเป็นศิลปินแห่งชาติสัญจร หรือผมเองก็พยายามสนับสนุนศิลปินรุ่นหลังๆ ไปดูงานต่างประเทศ เพื่อกลับมาต่อยอดให้เยาวชนไทย เราเชื่อว่าในความมืดต้องมีสว่างสักวัน แต่ถ้าเมื่อวานไม่ดี แล้วพรุ่งนี้จะดีได้อย่างไร" ปรมาจารย์ด้านศิลปะ กล่าวทิ้งท้ายเป็นแง่คิด

 ไม่ว่าศิลปะจะก้าวไปไกลสักเพียงใด หากคนเสพซึ่งมีส่วนผลักดันให้เฟื่องฟูยังเข้าไม่ถึง ศิลปะคงเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่งที่ตั้งแสดงไว้โก้ๆ เท่านั้น

แหล่งข้อมูล: คมชัดลึก


3 Comments

ศิลปะกับการพัฒนาสมองมนุษย์

7/19/2010

3 Comments

 
Picture
เรารู้กันมานานแล้วว่าศิลปะคือสิ่งจรรโลงจิตใจมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์มีจิตใจที่อ่อนโยน สงบ และไม่หยาบกระด้าง  เราใช้ศิลปะบางแขนงช่วยในการเยียวยาความเจ็บป่วยของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ นี่คือคุณประโยชน์ของศิลปะที่เรารับรู้ แต่ก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่า แท้จริงศิลปะมีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มากมายกว่าที่เรารับรู้มากนัก 

กิจกรรมศิลปะก่อให้เกิดอะไรขึ้นในสมองมนุษย์ ? 

ถ้าจะตอบด้วยภาษาทางจิตวิทยาก็ต้องบอกว่า กิจกรรมศิลปะทำให้เกิดการพัฒนาจินตนาการของมนุษย์ ก่อให้เกิดความอ่อนโยนทางอารมณ์ เกิดสุนทรียภาพและความประทับใจ นอกจากนี้ ยังทำให้อวัยวะส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมเกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งโดยสรุปแล้วเราก็ยังมองเห็นไม่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น ในสมองมนุษย์ ตอบใหม่คราวนี้เราจะตอบโดยภาษาของนักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง ก็ต้องบอกว่ากิจกรรมศิลปะก่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันของเซลล์สมองในส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับจินตนาการ ความซาบซึ้งประทับใจ การเคลื่อนไหวประสานกันของมือไม้แขนขาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นสมองส่วนหน้า (cerebral cortex) สมองส่วนกลาง (parietal lobe) สมองน้อย (cerebellum) หรือสมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอารมณ์ (amygdala) นี่คือความชัดเจนของกิจกรรมศิลปะที่มีต่อสมองมนุษย์ที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองได้นำมาให้เรารับรู้ 

เราจะใช้กิจกรรมศิลปะกับเด็กนักเรียนเพื่อช่วยพัฒนาสมองและการเรียนรู้ได้อย่างไร ? 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการใช้กิจกรรมศิลปะในที่นี้ไม่ใช่การฝึกฝนให้เด็กนักเรียนเป็นจิตรกรหรือปฏิมากรผู้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการปลูกฝังให้นักเรียนมีความรักและซาบซึ้งในศิลปะ อยากจะทำงานศิลปะไม่ว่าแขนงใดๆ ก็ตาม เพราะเราต้องการให้การทำกิจกรรมศิลปะนี้ไปกระตุ้นการสร้างวงจรหลายๆ วงจรในสมองของเด็ก ผลงานศิลปะจะออกมาดีหรือไม่ดีไม่ใช่ประเด็น  เราต้องการสมองที่สมบูรณ์ ไม่ใช่งานศิลปะที่เลอเลิศ แต่อาจจะมีเด็กบางคนที่มีแววของความเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคต ซึ่งครูต้องสังเกตให้ได้และช่วยสนับสนุนต่อไปเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม การที่เขาได้สัมผัสกับกิจกรรมศิลปะตั้งแต่แรกๆ เป็นการสร้างวงจรพื้นฐาน ทางศิลปะในสมองของเขา ซึ่งมันจะถูกต่อยอดในโอกาสข้างหน้าได้อย่างง่ายดาย ประเด็นต่อมาก็คือเราจะต้องไม่ตีกรอบให้เด็ก เด็กบางคนชอบวาดรูป บางคนชอบปั้นดิน ตัดกระดาษปะติดเป็นรูป เราต้องปล่อยตามอิสระในช่วงแรก เพราะนี่คือการสร้างความเข้มแข็งให้แก่วงจรของสมองในส่วนของจินตนาการ เด็กอาจจะลองหรือทดสอบไปเรื่อยๆ หาประสบการณ์แต่ละอย่างตามความชอบ ทุกสิ่งที่เขาสัมผัสจะส่งผลให้เซลล์ในสมองของเขาก่อรูปเป็นวงจรเรื่องต่างๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือวงจรแห่งจินตนาการ เพราะมันจะเป็นรากฐานอันสำคัญของอีกหลายๆ เรื่องในชีวิตของเขาในอนาคต 

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มนุษย์ที่ทุกคนยกย่องว่าฉลาดที่สุดต่อจาก เซอร์ไอแซก นิวตัน ได้กล่าววาจาอันเป็นอมตะไว้ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ Imagination is more important than knowledge." เพราะฉะนั้น เราต้องเปิดโอกาสให้กิจกรรมศิลปะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยก่อรูปวงจรของจินตนาการ ให้เกิดขึ้นในสมองของเด็กให้ได้ ศิลปะคืออีกภาษาหนึ่งของมนุษย์ เป็นภาษาสากลที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของศิลปินออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ได้ เด็กบางคนอาจจะมีความยากลำบากในการสื่อสารด้วยภาษาพูด ภาษาเขียน โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ กิจกรรมศิลปะจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถใช้เพื่อสื่อสารกับเด็ก เราจะสามารถรับรู้ความรู้สึกนึกคิด รู้ความต้องการและปัญหาของเขาได้ผ่านทางงานศิลปะ และที่สำคัญก็คือความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจินตนาการของมนุษย์ออกมาเป็นงานศิลปะนั้น เราถือเป็นความฉลาดอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่สามารถจรรโลงโลกให้สวยงามน่าอยู่น่าประทับใจได้ และงานศิลปะบางครั้งยังสามารถก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลอีกด้วย 


แหล่งข้อมูล : เว็บไซต์ หมอชาวบ้าน

3 Comments

ให้ศิลปะได้ดูแลสังคมที่หัวใจ

7/14/2010

3 Comments

 
Picture
จาก ‘ศิลปะ’ สู่ ‘ศิลปะบำบัด’
สังคมไทยเรียนรู้อะไร
 

มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้คนทุกยุคสมัยว่า ….
            “นานเท่าใดแล้วมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลก”
            หากทว่าสำหรับผู้คนในแวดวงศิลปะ “ศิลปะอุบัติขึ้นมาบนโลกนี้ยาวนานเพียงไร” ก็นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว จะกล่าวไปแล้ว ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงหลักฐานเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ฟากตะวันตกนั้นได้สรุปว่า ศิลปะเกิดขึ้นอย่างยาวนานนับแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ นั่นหมายถึงเริ่มก่อนการบันทึกลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ ศิลปะในความหมายนี้ไม่เพียงภาพวาด (จิตรกรรม) เครื่องปั้น (ประติมากรรม) แต่อาจรวมถึงเครื่องใช้ไม้สอยในยุคบุพกาล และการเต้นรำในพิธีกรรม
            

หลักฐานพยานที่ปรากฎตามผนังถ้ำ ลายเส้นที่ใช้สีของดินชนิดต่างๆ ผสมกับยางไม้ หรือไขสัตว์ในดินแดนแถบฝรั่งเศส สเปน รวมทั้งเกาะซิชิลี ในประเทศอิตาลี ขณะที่ในโลกตะวันออก มีหลักฐานเกี่ยวกับศิลปะของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เช่นกัน  ประเทศไทยเองมีภาพในผนังถ้ำทางแถบอุบลราชธานี และทางใต้ที่จังหวัดกระบี่ ที่วิจิตรล้ำค่าจนยากจะหา คำบรรยายใดๆ มาเปรียบเปรยได้
            

ดังได้กล่าวมา ศิลปะจึงเป็นสัญชาตญาณแรกของมนุษย์พัฒนาควบคู่กับวิวัฒนาการมนุษย์นับแต่บรรพกาล ซึ่งมนุษย์ไม่ได้พัฒนาเพียงแค่รูปร่าง รูปทรงภายนอก หากแต่ จิตวิญญาณของมนุษย์ก็มีการพัฒนามาตลอด และนี่เองมนุษย์จึงต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นโดยสิ้นเชิง ดังนั้นประวัติศาสตร์ศิลปะจึงเป็นอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งสะท้อนภาพจิตวิญญาณของมนุษย์แต่ละยุคสมัย 
            

ด้วยเหตุนี้ หันกลับมาสังคมของเราบ้างในวันนี้ ผมมีข้อสรุปอันน่าเจ็บปวดว่า สังคมเราไม่ใช่ภาพของสังคมที่เกื้อกูลกัน อบอุ่น หรือถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอีกแล้ว ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาโครงสร้างสังคม สิ่งแวดล้อม และปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ    ปรากฎขึ้นเด่นชัดประหนึ่งว่าภูมิต้านทานที่บรรพบุรุษได้มอบไว้ให้ทั้งมิติของศาสนาในฐานะที่พึ่งของสังคม หรือเชิงวัฒนธรรมที่ผู้คนเคยพึ่งพาอาศัยกัน และเคารพในธรรมชาติ แทบจะปลาสนาการไปสิ้น ถ้ายังจะเหลือสิ่งดีๆ อยู่บ้างก็คือ ยังพอมีผู้คนบางส่วนสนใจและใส่ใจกับสิ่งทีเกิดขึ้น   เมื่อวันก่อนผมเพิ่งได้ดูโฆษณาในโทรทัศน์ ฉุกคิดบางสิ่งได้จากคำพูดของสปอตที่ว่า “เด็กกำลังเฝ้ามองคุณอยู่” ภาพยนตร์โฆษณานั้นมีเหตุการณ์ที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสังคมในระดับรุนแรง ถ้าจำไม่ผิดเร็วๆ นี้ผมอ่านข่าวเด็กประถมที่ล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กรุ่นน้อง ข่าวแบบนี้เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เป็นข่าวที่กระทบกระเทือนสังคม หากแต่วันนี้ข่าวเหล่านี้คล้ายกับข่าวพยากรณ์อากาศไปเสียแล้ว
            

ถ้าเช่นนั้น ในแง่มุมของนักศิลปะบำบัด* (Art  Therapist) ศิลปะยังจะเป็นความหวังของความดีงามอีกหนึ่งอย่างนอกจากหลักธรรมทางศาสนา และคำสอนทางศีลธรรมได้หรือไม่?  คำตอบเหล่านี้ถูกเปิดเผยครั้งแล้วครั้งเล่าในโลกตะวันตกและโลกตะวันออกยุคใหม่ว่าศิลปะบำบัด (Art  Therapist) เป็นดั่งแสงวอมแวมให้กับผู้คนที่เจ็บป่วย หรือผู้คนที่ตระหนักในความสำคัญของศิลปะว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ซึ่งสามารถพัฒนามนุษย์ได้ในเชิงจิตวิญญาณ
            

ก็แล้วศิลปะบัดบัดเป็นเช่นไรกันเล่า ผมสรุปว่าเมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเจ็บป่วยทางกาย หรือทางจิต ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่เด็กจนกระทั่งผู้สูงวัย อันจะทำให้สภาพทางจิตใจของเขาขาดสมดุลไปด้วย นี่เป็นความรู้ทางการแพทย์องค์รวมที่ร่างกาย จิต และวิญญาณ  ล้วนสัมพันธ์กัน การให้ผู้รับการบำบัดสัมผัสกับ สี เส้น เสียง รูปทรง พื้นที่ ความว่าง ความเคลื่อนไหว และความงาม อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม (ที่สัมพันธ์กับโรคภัยและสภาพจิตใจ) ย่อมจะทำให้ประสบการณ์ภายในของเขาถูกพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนเกิดความสมดุล ทั้งนี้ศิลปะบำบัดเน้นที่กระบวนการมากกว่าผลงาน

 มีกรณีศึกษาซึ่งผมได้ประสบด้วยตนเอง มีผู้ได้รับบำบัดเป็นเด็กหญิงวัย 9 ปี ในโรควิตกกังวล (Obsessive Compulsive  Disorder) โดยมีอาการกังวลกับผู้ชายรอบข้างไม่เว้นแต่นักศิลปะบำบัดอย่างผมเอง ที่น่าสนใจก็คือสาเหตุการวิตกกังวลของเธอเนื่องจากการรับข่าวสารของข่าวขมขืนบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ในแทบทุกวัน เธอหวาดกลัวแม้กระทั่งบุคคลที่เป็นผู้ชายในบ้านของเธอ 
            

แน่นอนแล้วว่าผู้คนมีผลกระทบต่อสังคม และสังคมก็มีผลกระทบต่อผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่อเด็กและเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง ศิลปะบำบัดจึงเป็นทั้งภูมิคุ้มกันและเยียวยารักษาสำหรับเด็กหญิงที่ผมได้กล่าวข้างต้น โชคดีที่คนรอบข้างของเธอเข้าใจและให้ความอบอุ่นมากขึ้น จึงทำให้ศิลปะบำบัดในครั้งนั้นใช้เวลา 5-6 เดือน 
            

มาถึงวันนี้สังคมไทยอาจจำเป็นต้องศึกษา และทำความเข้าใจ ‘ศิลปะบำบัด’ ให้มากยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็คล้ายกับแสงเทียนดวงเล็กๆ จุดสว่างและส่งต่อกันไป เพื่อให้แสงแห่งศิลปะสาดประกายแห่งความเข้าอกเข้าใจ โดยมีนักศิลปะบำบัด (Art Therapist)  เปรียบเสมือนฟันเฟืองเล็กๆ ผลักดันสังคมของเราให้เคลื่อนไปพบกับความสุข ความดีงาม ที่ดีกว่าในวันนี้
 
อ้างอิงจาก : อนุพันธุ์  พฤกษ์พันธ์ขจี-กรรมการกองทุนศิลปะบำบัดเพื่อการพัฒนาเด็กและสังคม

3 Comments

มุมมอง \'นักศิลปะ\' ผู้ใหญ่ทำให้เด็กเข้าไม่ถึง \'ศิลปะ\'

7/13/2010

5 Comments

 
Picture
 "ผมว่าเด็กไม่ได้ขาดศิลปะหรอก แต่ผู้ใหญ่มากกว่าที่ขาดศิลปะ ที่ไปชอบวางองคาพยพของกลไกทางสังคมให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ เช่น เร่งเรียน การคัดเลือก ดึงธรรมชาติในความเป็นเด็กให้ขาดหายไป เด็กส่วนหนึ่งจึงมีปัญหาด้านอารมณ์ แต่ไม่ใช่ปัญหาหลัก ซึ่งปัญหาอยู่ที่ระบบสังคมที่เร่ง และกดดันมากกว่า"

         นักศิลปะบำบัด 
"อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี" หรือ "ครูมอส" ผู้คลุกคลีในแวดวงศิลปะมากกว่า 15 ปี และใช้ศิลปะบำบัดในเด็ก และผู้ใหญ่มากกว่า 7 ปี สะท้อนปัญหาเด็กกับศิลปะที่ถูกระบบต่างๆ ในสังคม ดึง และแย่งพื้นที่ความงามไปจากเด็ก โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ไปตีกรอบงานศิลปะของลูกมากจนเกินไป จนลูกเข้าไม่ถึงศิลปะ

         สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น 
ทีมข่าว Life and Family เปิดประเด็นกับ "ครูมอส" ระหว่างงานประชุมวิชาการ "ศิลปะบำบัดในสถานะที่ไร้พรมแดน" จัดโดยโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ และสถาบันศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย "ครูมอส" ให้ทัศนะต่อว่า สังคมไทยสลับซับซ้อนจนเกิดปัญหามากขึ้น เนื่องจากโทรทัศน์ หรือเกม กำลังแย่งพื้นที่ของเด็กที่จะทำงานกับใจลงไป เมื่อเทียบกับเด็กสมัยก่อน ที่เวลาว่างส่วนใหญ่จะลงไปเล่น หรือสัมผัสกับธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดิน ทราย ทำให้เด็กยุคใหม่ขาดโอกาสที่จะได้ทำงานกับใจ


นอกจากนี้ เด็กไทยยังเติบโตท่ามกลางความกดดันของระบบแข่งขัน เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กจึงเกิดความเครียด และมีปัญหาด้านต่างๆ จนบางครั้งขาดสมดุลบางอย่างในร่างกายไป เพราะไม่มีกิจกรรมอื่นๆ ให้ทำนอกจากเรียนเป็นหลัก ตรงกันข้ามกับพ่อแม่บางคน ที่สอดแทรกกิจกรรมศิลปะให้กับลูก แต่บางครั้งยังไม่เข้าใจศิลปะเท่าที่ควร โดยเฉพาะนิสัยชอบวิจารณ์ผลงานลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

 "บางคนชอบไปตีกรอบลูก เช่น ทำไมไม่อ่านหนังสือ โดยไม่สนับสนุนให้ลูกลองเล่นกับศิลปะ แต่จริงๆ แล้ว ศิลปะเป็นงานที่ดี และเกิดผลกับเด็กได้จริง เพียงแค่นั่งพูดคุย และให้กำลังใจลูก เช่น "ไหน หนูวาดอะไรค่ะ ลองเล่าให้คุณแม่ฟังสิ" สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งพ่อแม่ไม่ต้องไปตัดสินอะไรทั้งสิ้น หน้าที่ของพ่อแม่คือ สนับสนุน ส่งเสริม และให้กำลังใจเท่านั้น"

         กระนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถเห็นคุณค่าของศาสตร์ศิลปะได้ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ลูก นอกเหนือจากการดูโทรทัศน์ หรือเล่นเกม
เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษกับครูศิลปะนอกบ้าน แต่ขอให้นำศิลปะมาเป็นกิจกรรมเสริมกับลูกในบ้านก็ได้ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนในครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน

         
"ศิลปะกับเด็กให้ความงอกงาม ยกระดับจิต และทำให้เด็กมีธรรมชาติของความเป็นเด็กมากขึ้น" คำ ทิ้งท้ายของครูมอสที่เห็นถึงความมหัศจรรย์ของศิลปะ เช่นเดียวกับศิลปะที่ช่วยให้เขาสมดุล โดยเฉพาะงานปั้นดิน งานที่ผสมผสานตั้งแต่ความคิด หัวใจ และการกระทำ เรียกได้ว่า เป็นงานที่ทุกระบบทำงานไปด้วยกัน ดังนั้นพ่อ แม่มีศิลปะในการใช้ชีวิต และเลี้ยงดูลูกได้ โดยส่งเสริม และยกระดับจิตข้างในของลูกด้วยศิลปะอย่างเข้าใจ ซึ่งไม่ควรมองว่าศิลปะคือตัวสินค้า หรือผลงาน แต่มันมากกว่านั้น นั่นคือจิตวิญญาณ
 

ข้อมูลจาก : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 


5 Comments

โรงเรียน Art พัฒนาสมอง

7/11/2010

3 Comments

 
Picture
 ทุกวันนี้พ่อแม่จำนวนมากนิยมส่งลูกไปเรียนศิลปะกัน เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ลูกเก่งและมีความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้นแถมได้วาดรูปสวยๆ ไว้ให้พ่อแม่ชื่นชมและอวดแขกอีกต่างหาก ศิลปะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นจริงแต่ต้องเป็นศิลปะที่มีกระบวนการสอนที่อยู่บนพื้นฐานธรรมชาติของเด็ก และไม่ขัดพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กด้วย เด็กแต่ละวัยมีวิธีคิดต่อเรื่องศิลปะต่างกัน เด็กเล็กๆ จะมองเรื่องศิลปะต่างกัน เด็กเล็กๆ จะมองเรื่องศิลปะต่างจากเด็กโต และเด็กโตก็จะมองศิลปะต่างจากวัยรุ่นและผู้ใหญ่โดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่ส่งลูกวัยเล็กๆ ไปเรียนศิลปะกับครูหรือโรงเรียนที่มีแนวคิดในการสอนผู้ใหญ่จะเกิดผลเสียมากว่าผลดี เด็กช่วยปฐมวัยหรือวัยก่อนเข้าโรงเรียนจะเรียนหรือทำงานศิลปะเพราะความสนุกและพอใจที่ได้ทำ เป็นการพิสูจน์ว่าเขาทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้และสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เขาคิดให้คนอื่นๆ รับรู้และยอมรับได้ศิลปะของเด็กจึงไม่ใช่ความงดงาม หรือสุนทรียภาพที่เน้นหลักศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปทรง องค์ประกอบ ความลงตัวความแตกต่างหรือแสงและเงา

ถ้าพ่อแม่ส่งลูกไปเรียนโดยหวังว่าศิลปะจะช่วยพัฒนาความคิด การเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ แล้วไปเจอครูหรือโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาทักษะทางศิลปะให้เด็ก มากกว่าการใช้กระบวนการทางศิลปะมาเป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กพ่อแม่จะต้องพบกับความผิดหวังแน่นอน 

Art for Kids
หัวใจของพัฒนาการในช่วงปฐมวัย คือ การพัฒนาความสามารถในการรับรู้ (Perception) เพราะมนุษย์เรียนรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น และผิวสัทผัส) การพัฒนาวิธีคิด (Thinking Ability) และการพัฒนาวิธีการสื่อสาร (Communication) ทั้งหมดคือเครื่องมือจำเป็นสำหรับมนุษย์ ที่จะช่วยให้เด็กเกิดความมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง

ข้อสำคัญ ความสามารถที่ว่านี้ยัดเยียดให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่จะพัฒนาได้โดยการส่งเสริมให้เด็กมีประสบการณ์และทักษะในการรับรู้ การคิด และการแสดงออกให้คนรับรู้ การคิด และการแสดงออกให้คนรับรู้ ซึ่งศิลปะคือเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ หากกระบวนการสอนเน้นให้เด็กได้ฝึกประสบการณ์ดังกล่าว แต่หากการสอนศิลปะเป็นการเพียงการฝึกให้เด็กวาดรูปตามแบบ ระบายสีตามช่องหรือตัดกระดาษแปะตามรูปที่ครู่ร่างไว้ให้การเรียนศิลปะแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดความงอกงามในสมองเด็กได้เลย 


Check list ก่อนส่งลูกเรียน Artก่อนที่จะส่งลูกไปเรียนศิลปะที่ใดลองสอบถามข้อมูลจากครูหรือโรงเรียนดูก่อนว่า เขามีหลักฐานในการสอนอย่างไรแล้วลองนำมาตอบโจทย์ต่อไปนี้ดูนะครับ 

1. เด็กมีโอกาสฝึกฝนความสามารถในการรับรู้หรือไม่ เช่น รู้ว่าตรงนี้เรียบหรือขรุขระ นูนหรือเว้า มืดหรือสว่าง เล็กหรือใหญ่ เพราะการรับรู้ที่ละเอียดต้องได้รับการฝึกฝน ซึ่งนอกจากเป็นพื้นฐานทักษะทางศิลปะแล้ว ยังเป็นการพื้นฐานการเรียนรู้ทั้งหมดของมนุษย์อีกด้วย เพราะสมองมนุษย์เรียนรู้โดยการเก็บข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ผ่านประสาทการรับรู้ทั้ง 5 ยิ่งการรับรู้ละเอียดมากเท่าใดการเรียนรู้ก็จะมีคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น

2. ให้เด็กได้คิดหรือไม่ ครูจะต้องไม่เป็นต้นแบบให้เด้กคักลอกแต่ควรให้เด็กคิดและจินตนาการเอง ครูอาจแค่ตั้งโจทย์ให้เด็กได้คิดและสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นเองตามที่เด็กต้องการ เช่น หมู่บ้านของเรา ครอบครัวของเรา ส่วนเด็กจะคิดและวางแผนทำงานอย่างไร ก็ให้อิสระเขาเต็มที่ ครูแค่คอยช่วยเหลือเตรียมอุปกรณ์ให้เขาก็พอ

3. ให้เด็กแสดงความคิดของตัวเองออกมาอย่างอิสระหรือไม่ ไม่ว่าเด็กจะนำเสนองานออกมาแบบไหน อย่างไร ครูจะต้องให้เด็กแสดงออกมาอย่างเต็มที่ ครูเพียงช่วยกระตุ้นความคิด สอบถามเพื่อความเข้าใจในความคิดของเด็ก ส่วนการตัดสินใจและลงมือทำเป็นเรื่องของเด็กครับ

4. โรงเรียนต้องละเว้นการสอนทฤษฎีศิลปะให้กับเด็ก เพราะกรอบของทฤษฎีจะเข้ามาครอบงำความคิด ทำให้เด็กไม่เกิดความคิดที่หลากหลาย เพราะมันคือที่มาของความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ต่อเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นนั่นแหละเราถึงค่อยป้อนหลักการทางศิลปะให้เขาได้เรียนรู้อย่างจริงจังที่ต้องเน้นตรงที่เพราะว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากได้ความไร้กรอบเท่านั้นหากเราชักนำโดยการกำหนดกรอบให้ก่อนสุดท้ายเด็กจะเหลือเฉพาะกรอบที่เราหยิบยื่นให้ เวลามีงานแสดงศิลปะของเด็กเราจึงมักได้ยินว่า ดูผลงานก็รู้ว่าเด็กคนนี้เป็นลูกศิษย์ของใคร

5. กิจกรรมที่ทำให้เด็กรู้สึกสนุกหรือไม่ หลายๆ ครั้งที่เด็กไปเรียนเพราะพ่อแม่บังคับให้ไป ทำให้เด็กเกิดความเครียดซึ่งเป็นผลต่อเด็กอย่างยิ่ง การเรียนศิลปะสำหรับเด็กจะต้องทำให้เด็กสนุกและเกิดความภาคภูมิใจ เพราะเป็นความคิดและฝีมือของเรา

6. โรงเรียนมีวิธีการประเมินผลเด็กอย่างไร การประเมินผลเรื่องศิลปะสำหรับเด็กจะต้องดูที่กระบวนการทำงานของเด็กโดยไม่ต้องสนใจกับคุณภาพของงาน แต่ให้ดูการรับรู้ของเด็กว่ามีพัฒนาการเป็นอย่างไร วิธีคิด ความมั่นใจในการสื่อออกมาได้ดีเพียงใด นี่คือสิ่งที่ครูจะต้องเป็นหลักในการประเมินผลเด็ก 

ถ้าคุณพ่อคุณแม่คุยกับทางโรงเรียนหรือครู แล้วข้อมูลที่ได้สามารถตอบโจทย์ทั้ง 6 ข้อนี้ได้ โรงเรียนแบบนี้แหละที่น่าจะส่งลูกเข้าไปเรียน แต่ถ้าได้คำตอบว่าโรงเรียนของเราเน้นไปที่ผลงานเด็ก เด็กของเราชนะเลิศการประกวดงานศิลปะเด็กทุกปี เราจะเน้นให้เด็กมีสุนทรียภาพและซาบซึ้งในคุณค่าของศิลปะ เราต้องการให้เด็กของเราทุกคนมีทักษะทางศิลปะอย่างแท้จริง…ผมว่าถอยห่างจากโรงเรียนประเภทนี้ไว้จะดีกว่า.


ข้อมูลจาก : www.elib-online.com
อ้างอิงจาก : นพ.อุดม เพชรสังหาร


3 Comments

    ColorfulEnglish

    เก่งอังกฤษด้วยศิลปะ

    Archives

    December 2012
    July 2010

    Categories

    All

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.