- colorfulenglish
‘ฝึกพูดหลายภาษา’ ดีกับสมองอย่างไร
ยากไหมที่คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วและพูดได้หลักๆ แค่ภาษาไทยภาษาเดียวจะเริ่มเรียนภาษาที่สอง และสองไม่พอ ยังที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ...มันยากไหมเอ่ย และสำคัญไปกว่านั้น มันจำเป็นด้วยเหรอนี่ ถ้าคุณหลงมาอ่านคอลัมน์ของหนูดีในวันนี้ คุณกำลังจะถูกชวนเข้าร่วมทีมเป็น Polyglot กับหนูดีแล้วละค่ะ Polyglot คืออะไร พวกเขาคือคนพิเศษในสังคม พูดได้หลายๆ ภาษาแบบที่บางคนเรียกกันว่า Multilingual มาจาก “มัลติ” ที่แปลว่า มากๆ และ “ลิงกวล” ที่แปลว่า ภาษา

พ่อแม่สมัยนี้อยากให้ลูกพูดได้ไม่ต่ำกว่าสามภาษา แค่ไทยกับอังกฤษเชยไปแล้ว เดี๋ยวนี้ต้องได้ภาษาจีนและพอได้สามแล้วเชื่อไหมคะมันจะไม่จบ เพราะเด็กที่พูดได้สามภาษาจะไม่กลัวภาษาใหม่ๆ พอเจอญี่ปุ่น สแปนิช ฝรั่งเศส พวกเขาจะสนุกมาก จะพยายามออกเสียงและผสมคำใหม่ๆ งานวิจัยทางด้านสมองและภาษาศาสตร์พบว่า คนเราที่พูดได้หลักๆ แค่ภาษาเดียว พอไปเรียนพูดภาษาที่สองนี่ยากมากเลย แต่ลองคุณพูดได้สองภาษาแล้วนะไปเรียนภาษาที่สามจะไม่ค่อยยากเท่าไหร่ แม้ต้องปรับตัวปรับใจอยู่บ้าง แต่...ความมหัศจรรย์จะเริ่มหลังจากภาษาที่สามเป็นต้นไปค่ะ เพราะสมองของเราจะเริ่มปรับเข้าสู่โหมด “ภาษาสากล” คือ สมองจะเริ่มสร้างความเข้าใจโครงสร้างรวมๆ ของสิ่งที่เรียกว่า “ภาษา” และมีเครื่องมือในสมองให้รับมือกับภาษาใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะเราเข้าใจ “โครงสร้างที่แตกต่าง” ของหลายภาษา บางคนเรียกสิ่งนี้ว่า Universal Language Platform คือ แพลตฟอร์มสำหรับภาษาสากล

สำหรับหนูดีแล้ว ทฤษฎีจำพวกนี้น่าสนใจเพราะหนูดีทำโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก ก็อยากนำมาทดลองกับเด็กๆ ที่โรงเรียนค่ะ ยิ่งพวกห้องเบบี๋หนึ่งขวบที่ยังพูดภาษาอะไรไม่ได้เลยสักนิดยกเว้นภาษามือนี่ยิ่งน่าทดลอง ทุกครั้งเด็กหนึ่งขวบไม่เคยทำให้ครูหนูดีผิดหวัง ปีนี้ เราทดลองจ่ายให้สามภาษาเลยค่ะ โดยเด็กๆ ของเรามีพ่อแม่เป็นคนไทย (เรามีเด็กต่างชาติปะปนบ้างค่ะ แต่นับเป็นต่างชาติลำบากเพราะหนึ่งขวบไหนก็คล้ายกันหมด) เด็กพูดภาษาไทยมาแต่เดิม เราเพิ่มครูภาษาอังกฤษเจ้าของภาษาตามมาตรฐาน
จากนั้นเพิ่มครูญี่ปุ่นค่ะ ชื่อคุณครูมาริเอะซังซึ่งสอนอนุบาลในญี่ปุ่นมาแล้วหกปี ครูมาริเอะนั้นไม่เพียงสอนวิชาภาษาญี่ปุ่นผ่านเพลง นิทาน โอริกามิและวัฒนธรรม เช่น จัดงานวันลูกสาว (ฮินะมัตสึริ) แต่ยังเข้าร่วมเป็นครูคู่ชั้นในห้องเนิร์สเซอรี่ด้วย พูดจาใช้ชีวิตตามธรรมชาติกับเด็กเลย ผลหรือคะ เด็กๆ เริ่มก๊อบปี้สำเนียง ท่าทางและภาษาของครูทุกชาติ และทำอย่างที่ทฤษฎีว่าไว้เป๊ะๆ คือ เขาจะสื่อสารกับครูแต่ละคนของเขาด้วย “ภาษาของครู” ไม่ใช่ภาษาที่พูดที่บ้านกับพ่อแม่ นี่คือพฤติกรรมปกติของเด็กลูกครึ่งหรือเด็กสามภาษาที่ในบ้านมีพ่อ แม่ และตาหรือยายที่พูดกันไปคนละภาษาเลย และเด็กเหล่านี้ก็จะเก็บข้อมูลหน่วยภาษานานหน่อย อาจจะพูดคำแรกได้ช้ากว่าเด็กภาษาเดียวสักหน่อย แต่ ขอโทษนะคะพอเริ่มพูดได้เท่านั้นล่ะ ปร๋อเลย

และที่เด็ดไปกว่านั้นคือ พอพูดได้ เขาจะสลับภาษาของเขาเอง เช่น พูดภาษาของยายกับยาย ภาษาของแม่กับแม่ จะไม่มีการสลับกัน สมองจะมีระบบชัดเจนเลยว่า กับคนนี้ฉันต้องพูดด้วยภาษานี้เขาถึงจะเข้าใจฉัน มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่ารักมากๆ หนูดีก็เลยลองสร้างสถานการณ์ “บ้านเด็กลูกครึ่ง” ขึ้นมาในโรงเรียนและก็ได้ผลไม่ต่างกัน หากพ่อแม่ไม่ทำให้ลูกเครียด ลองให้ฝึกเล่นๆ สนุกๆ แบบเป็นธรรมชาติไปเลยค่ะ เดี๋ยวในช่วงปลายฤดูฝนนี้หนูดีจะเพิ่มคุณครูชาวจีนเพื่อเสริมภาษาจีนให้เบบี๋ด้วย เราทำแบบไม่บังคับ ปล่อยให้เด็กค่อยๆ รับภาษาไปเอง จึงไม่มีปัญหาเรื่องความเครียดค่ะ
ใครคิดจะลองใช้โมเดลนี้ อย่าทำให้เด็กเครียดว่า เขาทำไม่ได้นะคะ ประเด็นคือให้เขารับหน่วยเสียงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคลังภาษาในสมอง ได้เท่าไหน เราพอใจเท่านั้นค่ะ ไม่มีคำว่ากดดัน มีแต่คำว่าสนุกสนาน นิทาน เสียงเพลง เท่านั้นพอ มามะ มาถึงเรื่องของผู้ใหญ่อย่างเราๆ กันบ้าง พวกเราหลายๆ คนอาจจะคิดว่า ก็ใช่น่ะสิสมองเด็กน่ะสอนอะไรก็จำได้และทำได้ง่ายๆ อยู่แล้ว สอนอะไรก็ได้ทั้งนั้นแต่สมองของผู้ใหญ่คงเกินเยียวยา อย่าค่ะ อย่าเพิ่งคิดแบบนั้น เพราะจากงานวิจัยพบว่า การเรียนภาษาที่สองสามสี่ เป็นหนึ่งใน “การออกกำลังสมอง” ที่ดีที่สุด

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์ค แคนาดา พบว่า คนที่พูดได้สองภาษานั้นมีโอกาสเสี่ยงจะเป็นโรคความจำเสื่อมช้ากว่าคนที่พูดภาษาเดียวถึงตั้งห้าปี!! แต่รู้ไหมคะหากคุณอัพเกรดและเริ่มเรียนภาษาที่สามวันนี้ คุณอาจจะสมองเสื่อมช้าลง 6.4 ปี หากคุณซ่าและกล้าพอที่จะไปถึงภาษาที่สี่เป็นต้นไป โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมอาจช้าลงถึงเก้าปี!! คุ้มนะคะหนูดีว่า
แล้วจะเริ่มอย่างไรดี เริ่มได้ทุกอย่างเลยค่ะ จากการฟังเยอะๆ ในภาษาที่เราอยากเรียน ไปจนถึงสมัครคลาสภาษาญี่ปุ่น ไปจนถึงจ้างติวเตอร์ภาษาอิตาเลียน ฯลฯ เลือกมาสักสองสามภาษาสิคะ สำหรับหนูดีแล้ว ปีนี้ ขอตะลุยญี่ปุ่นกับอิตาเลียน เพราะทฤษฎีหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า เริ่มเรียนทีละสองภาษาใหม่พร้อมกันจะง่ายกว่าเริ่มภาษาเดียว งานนี้จะจริงหรือไม่ หนูดีขอลองเอาสมองก้อนนี้ของหนูดีได้ทดลองเลยค่ะ
* บทความเผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม 2559 โดย วนิษา เรซ (หนูดี) นักการศึกษาที่เชี่ยวชาญทางด้านสมองและการเรียนรู้ นักคิด นักเขียน เจ้าของสโลแกน “อัจฉริยะสร้างได้” ติดต่อ facebook.com/mindbrain หรือเพจ/อัจฉริยะสร้างได้