- colorfulenglish
เรียนภาษาที่ 2 อย่างไร ไม่ให้เป็น ‘ภาระสมอง’ II
เปิดภาษาที่ 2 ทิ้งไว้ แม้จะไม่ได้ตั้งใจจะฟัง
อย่าตั้งใจไปหมดเสียทุกอย่าง “เอาล่ะ ฉันพร้อมจะเรียนแล้ว” พูดที่ไรก็เร่ิมขี้เกียจต้องก้มไปเกาตาปลาทุกที แต่การเรียนแบบไม่ต้องตั้งใจเลย ทำให้คุณซึมซับภาษาอย่างที่คุณไม่รู้ตัว สมองน่าอัศจรรย์ใจกว่าที่คุณคาดไว้อีกเยอะ
การได้ยินภาษาที่ 2 แบบเป็นเสียง Background ทำให้คุณเรียนภาษาได้เร็วว่า แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจฟัง เอาหูคุณไปอยู่กับเสียงและภาษาใหม่ๆ ที่หลากหลาย ด้วยการเปิดข่าวภาษาต่างประเทศทิ้งไว้ หรือเปิดเพลงที่ชอบ
งานวิจัยในปี 2015 ตีพิมพ์ใน Journal of the Acoustical Society of America พบว่ากลุ่มทดลองที่ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยที่เปิดเสียงภาษาอื่นๆ ทิ้งไว้ตลอดกิจกรรม มีแนวโน้มที่จะจดจำคำหรือวลีได้ดีกว่า
“สมองชื่นชอบความบังเอิญ มันเก็บเกี่ยวการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว” Melissa Baese Berk นักวิจัยภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Oregon กล่าว

เรียนปุ๊บ นอนปั๊บ
ใครว่าการนอนหมายความว่ายอมแพ้? เปล่าเลย คุณกำลังเรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่งอยู่ต่างหาก การนอนถูกกีดกันจากระบบการเรียนรู้มาตลอดในอดีต แต่ความก้าวหน้าทางประสาทวิทยา (Neuroscience) ยุคปัจจุบันทำลายกระบวนทัศน์เก่าๆ ลงอย่างสิ้นเชิง มีหลักฐานมากมายจากการตรวจด้วยคลื่นสมองที่ยืนยันว่า สมองคุณกำลังประมวลผลอยู่แม้จะอยู่ในช่วงการนอน และถูกจัดเป็น Subliminal learning ที่หลายๆ สถาบันกำลังจับตามอง หรือการนอนคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด?
งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Cerebral Cortex โดย มูลนิธินักวิทยาศาสตร์สวิสเซอร์แลนด์ (Swiss National Science Foundation) พวกเขาพิสูจน์ว่าการนอนทำให้ผู้เรียนจดจำคำศัพท์ได้แม่นยำขึ้น โดยใช้นวัตกรรม EEG ตรวจคลื่นสมองขณะผู้เรียนทำการนอนหลับ พบกิจกรรมประสาทเกิดขึ้นบริเวณ Parietal lobe หรือส่วนประมวลการใช้ภาษาของมนุษย์
ช่วงเวลาเรียนภาษาใหม่ๆ คือเวลาก่อนนอน คุณควรอ่านหนังสือภาษาที่ 2 หรือฟังบทสนทนาที่น่าสนใจ เมื่อความง่วงเข้าคืบคลานก็อย่าไปฝืน (ยกเว้นเรื่องที่อ่านจะสนุกมาก) นอนเสียโดยดี ปล่อยให้สมองทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ คุณอาจตื่นมาร่ายบทกวีเชคสเปียร์คล่องปร๋อเลยก็ได้
ไทยคำ/อังกฤษคำ ไม่ได้กระแดะ แต่กำลังเรียนรู้
แม้คุณจะรู้สึกไม่สบอารมณ์กับคนที่พูด 2 ภาษาในประโยคเดียว แล้วรู้สึกถึงความดัดจริตอย่างไม่ถูกชะตา แต่ในงานวิจัยใหม่ๆ เผยให้เห็นว่า มันเป็นกลไกเรียนรู้ของผู้ที่สื่อสารแบบ 2 ภาษา (Bilingual) ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แม้ในกรณีเด็กๆ ที่อยู่ในช่วงวัยเรียนรู้ พวกเขาจะสื่อสารทำนองนี้เป็นชั่วครั้งชั่วคราว และเติบโตขึ้นเมื่อโครงสร้างทางภาษาทั้ง 2 แข็งแรงพอ
การเปลี่ยนคำที่ต้องการสื่อสารเป็นภาษาอื่นบ้างสลับไปมา ช่วยในการเรียกใช้คำได้รวดเร็วขึ้น อยู่ในบริบทประโยคที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ใช่เรื่องดีที่คุณจะสื่อสารด้วยเทคนิคนี้อย่างเป็นทางการหรือพูดในที่ชุมชน ฝึกฝนในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนสนิทของคุณน่าจะดีกว่า พวกเขาคงเข้าใจว่าคุณกำลังฝึกภาษาอยู่มากกว่าคนอื่นๆ ที่คอยตั้งแง่จับผิด

เอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นเลย
ไม่มีอะไรดีกว่าการที่เอาตัวคุณเองไปอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคยเลยสักนิด และการสื่อสารเป็นเหมือนห่วงยางเส้นเดียวที่จะช่วยให้คุณมีชีวิตรอด สมองคุณจะตั้ง Priority การเรียนรู้มาเป็นอันดับแรก
ที่สำคัญคุณไม่ได้เรียนรู้แค่ภาษา แต่อาจเห็นโครงสร้างทางอารยธรรมที่ถักทอเป็นผืนผ้าขนาดมโหฬารซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อการสื่อสารในสังคมนั้นๆ อยู่กับเจ้าของภาษาจริงๆ หรือทำงานกับพวกเขา พัฒนามันเป็นมิตรภาพ พัฒนามันเป็นความรัก
กำแพงภาษาถูกทำลายลงพร้อมๆ กับกำแพงของหัวใจ จะมาอายอยู่ใย หากมันทำให้คุณบินไกลกว่าคนอื่น
CR: Thanet Ratanakul https://thematter.co
#colorfulenglish #colorfulenglishblog #scienceexperiment #cooking #art #english #language #education #เก่งอังกฤษด้วยศิลปะ #เรียนภาษาผ่านกิจกรรม #เด็ก2ภาษา #เรียนทำอาหาร #เรียนทำขนม #เรียนศิลปะ #เรียนวิทยาศาสตร์ #เรียนภาษาผ่านเกมส์ #learningbyplaying